วันนี้ (20 ธ.ค. 67) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีสำหรับนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand-Japan Student ICT Fair 2024 (TJ-SIF 2024) โดยมีนายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช และกล่าวต้อนรับโดยนายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ได้เดินเยี่ยมชมการพัฒนาเกมส์ของนักเรียนไทยและญี่ปุ่น , นิทรรศการการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดสตูลที่สามารถเก็บเกี่ยวได้เฉพาะหน้าร้อน มาศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี และเยี่ยมชมนิทรรศการโครงงานแบบโปสเตอร์ของนักเรียน
.
สำหรับงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 ธันวาคม 2567 ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือทางวิชาการของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับกลุ่มโรงเรียนในโครงการ Super Science High Schools และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีที ของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จัดการเรียนรู้ของครู และการแข่งขัน Game Programming Hackathon ภายใต้การเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยมีกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 18 แห่ง สถาบันการศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 18 แห่ง กลุ่มโรงเรียนในโครงการ Super Science High Schools ประเทศญี่ปุ่น 14 แห่ง และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น 11 แห่ง จำนวนกว่า 1,000 คน เข้าร่วมงาน
.
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีจำนวน 137 ผลงานในรูปแบบ Poster Presentation และ Oral Presentation , นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีและหุ่นยนต์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย , การบรรยายด้าน ICT โดยนักวิทยาศาสตร์ไทยและญี่ปุ่น , ICT Workshop สำหรับนักเรียน , การศึกษาแหล่งเรียนรู้ด้าน ICT ในจังหวัดสตูล , การประชุมวิชาการผู้นำทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น (TJ-ELS 2024) ในหัวข้อ AI for Education นอกจากนี้ภายในงานมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนที่น่าสนใจ ได้แก่หุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับสวนโกโก้ ใช้ GPS ในการอ้างอิงตำแหน่งของตัวเอง ตรวจจับและทำนายโรคของผลโกโก้จากภาพที่ถ่าย การส่งข้อมูลและการควบคุมผ่านเว็บแอปพลิเคชันจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการแชร์รูปภาพบนโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล โดยนักศึกษา Hachinohe KOSEN ประเทศญี่ปุ่น
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกับหน่วยงานการศึกษาของญี่ปุ่น จนสามารถจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมไอซีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ สร้างสรรค์ผลงาน และพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้เยาวชนตระหนักถึงการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
ภาพ-ข่าว : ศุภาพิชญ์ ดวงไข / ส.ปชส.สตูล
20 ธ.ค. 67